รองปลัด ศธ.​ ‘พิเชฐ​ โพธิ์​ภักดี’​ นำผู้​บริหาร​ต้อนรับคณะกรรมการการศึกษาเขตหยูเป่ย เมืองฉงชิ่ง​ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์ และศึกษาดูงานสถานศึกษาจังหวัด​สมุทรสาคร​

26 มิถุนายน​ 2566 ​/ นายหลี่ ฟา หลิน ผู้แทนจากคณะกรรมการการศึกษาเขตหยูเป่ย เมืองฉงชิ่ง​ พร้อมคณะ เข้าพบผู้บริหาร​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม กระชับความสัมพันธ์และศึกษาดูงานสถานศึกษา        ในจังหวัดสมุทรสาคร ตลอดจนติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างวันที่ 26 – 30 มิถุนายน 2566​        โดยมีนายพิเชฐ​ โพธิ์ภักดี​ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ​ นายมณฑล​ ภาคสุวรรณ์​ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน​              นายอาคม​ ศาณศิลปิน​ ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร​ และคณะ​ ร่วมให้การต้อนรับ​ ณ​ อาคาร​ราชวัลลภ​ กระทรวง​ศึกษาธิการ​

นายหลี่ ฟา หลิน​ กล่าวว่า​ การเดินทาง​มาประเทศไทย​ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน​ ศึกษาดูงาน และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษากับสถานศึกษาในจังหวัดสมุทรสาครที่ทำความบันทึกข้อตกลงร่วมกัน​ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ความร่วมมือการศึกษาไทย-จีน กรุงเทพมหานคร

โดยศูนย์ความร่วมมือการศึกษาไทย-จีน จะส่งเสริมด้านวิชาการในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ภาษาจีนให้แก่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร เช่น การสัมมนาผู้บริหาร การจัดอบรมทางวิชาการของครู และนักเรียน เป็นต้น ซึ่ง​หากศูนย์ความร่วมมือการศึกษาไทย-จีน และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาครมีความประสงค์จะดำเนินการทำความร่วมมือในโครงการอื่น​ ๆ เพิ่มเติม สามารถหารือ และตัดสินใจร่วมกันได้

สำหรับ​บันทึกความเข้าใจเพื่อแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการศึกษาไทย-จีน มีกรอบและแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

  1. ทั้งสองฝ่ายแนะนำโรงเรียนแลกเปลี่ยนในเขตพื้นที่ของตนไม่น้อยกว่า 5 โรงเรียน​ และส่งเสริมสัมพันธไมตรี ให้กลายเป็นโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง
  2. ทั้งสองฝ่ายส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างโรงเรียนในเขตพื้นที่ของตน​ และดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม โครงการวิจัยร่วมกัน จัดงานสัมมนา ฯลฯ
  3. ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียนในเขตพื้นที่ของตน ดำเนินการแลกเปลี่ยน และเยี่ยมชมเรียนรู้ร่วมกัน การสอนในต่างประเทศระยะสั้น การทัศนศึกษาในช่วงปิดภาคเรียน และศึกษาต่อต่างประเทศ ฯลฯ
  4. ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้โรงเรียนร่วมมือกันสร้างหลักสูตร กิจกรรมภาษาและวัฒนธรรม อีกทั้งยังปลูกฝังนักเรียนให้ความเข้าใจทางภาษาและวัฒนธรรมทั่วโลก เพื่อเพิ่มความเข้าใจซึ่งกันและกันให้มากขึ้น
  5. ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และดำเนินการเรียนการสอนแบบออฟไลน์ในเวลาที่เหมาะสมตามสถานการณ์

รายชื่อโรงเรียนที่เข้าร่วมรับการพัฒนา

ฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน
1) Chongqing No. 8 Secondary School
2) Chongqing Yubei Middle School
3) Chongqing Jihua Middle School
4) Chongqing Nanhua Middle School
5) Chongqing Yubei Kindergarten School
6) Chongqing Yubei Experimental Middle School
7) Chongqing Yubei Yukai School
8) Chongqing Yubei LongShan Primary School
9) Chongqing Yubei Bashu Primary School
10) Chongqing Nankai Liangjiang Secondary

ฝ่ายประเทศไทย
1) โรงเรียนสามชัยวิเทศศึกษา
2) โรงเรียนเทศบาลอ้อมน้อย
3) โรงเรียนบ้านแพ้ววิทยา (ตี่ตง)
4) โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร
5) โรงเรียนเอกชัย
6) โรงเรียนเทศบาลวัดดอนไก่ดี (สังวรจันทสรราษฎรวิทยา)
7) โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย
8) โรงเรียนเทศบาลศรีบุณยานุสสรณ์
9) โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ
10) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ สมุทรสาคร​ ในพระราชูปถัมภ์ฯ

นายพิเชฐ​ โพธิ์ภักดี​ กล่าวขอบคุณคณะกรรมการการศึกษาเขตหยูเปย เมืองฉงชิ่ง ที่ได้ให้การสนับสนุนและช่วยพัฒนาด้านการศึกษาของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความร่วมมือกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือทางการศึกษาให้กับจังหวัดต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

และในวันนี้มีการตกลงร่วมกันว่าจะขยายความร่วมมือด้านการศึกษาในสถานศึกษาเอกชนไทยทั่วประเทศ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ดำเนินการลงนามบันทึกความเข้าใจในลำดับต่อไป​ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์การศึกษาไทย – จีน ในความร่วมมือด้านการพัฒนาการศึกษาไทย-จีน สืบต่อไป

ทั้งนี้ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้เกียรติถ่ายภาพร่วมกันเป็นที่ระลึกกับหน่วยงานทั้งสองที่ได้หารือความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย